พระธาตุพนม ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ.8 โดยพระมหากัสสปเถระเจ้า ผู้อัญเชิญพระอุรังคธาตุมาทางอากาศผ่านมาทาง ดอยแท่น หรือ ภูเพ็ก พร้อมกับพระอรหันต์ 500 องค์ นำมา ณ ที่ภูกำพร้า เพื่อสร้างองค์พระธาตุ โดยมีเจ้าเมืองทั้ง 5 นำโดยพระยาศรีโคตรบูร เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และพระอรหันต์ทั้ง 5 มีพระมหากัสสปเถระเจ้า เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระธาตุพนม
ตามตำนานพระธาตุพนม ในอุรังคนิทานกล่าวว่า สมัยหนึ่งในปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระอานนท์ ได้เสด็จมาทางทิศตะวันออก โดยทางอากาศ ได้มาลงที่ดอนกอนเนา แล้วเสด็จไปหนองคันแทเสื้อน้ำ (เวียงจันทน์)ได้พยากรณ์ไว้ว่า ในอนาคตจะเกิดบ้านเมืองใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา จากนั้นได้เสด็จไปตามลำดับ ได้ทรงประทานรอยพระพุทธบาทไว้ที่ โพนฉัน (พระบาทโพนฉัน) อยู่ตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย แล้วเสด็จมาที่ พระบาทเวินปลา ซึ่งอยู่เหนือเมืองนครพนมปัจจุบัน ได้ทรงพยากรณ์ที่ตั้งเมืองมรุกขนคร (นครพนม) และได้ประทับพักแรมที่ภูกำพร้าหนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นเสด็จข้ามแม่น้ำโขง ไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตรบูรณ์ พักอยู่ที่ร่มต้นรังต้นหนึ่ง (พระธาตุอิงฮัง เมืองสุวรรณเขต) แล้วกลับมาทำภัตกิจ (ฉันอาหาร) ที่ภูกำพร้าโดยทางอากาศพญาอินทร์ได้เสด็จมาเฝ้าและทูลถามพระพุทธองค์ ถึงเหตุที่มาประทับที่ภูกำพร้า พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ ในภัททกัลป์ที่นิพพานไปแล้ว บรรดาสาวกจะนำพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า พระพุทธองค์เมื่อนิพพานแล้ว พระมหากัสสปะ ผู้เป็นสาวก ก็จะนำเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ ณ ที่นี้เช่นกัน จากนั้นพระพุทธองค์ก็ได้ทรงปรารภถึงเมืองศรีโคตรบูรณ์ และมรุกขนคร แล้วเสด็จไปหนองหารหลวง ได้ทรงเทศนาโปรดพญาสุวรรณพิงคาระ และพระเทวี ประทานรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ที่นั้น แล้วเสด็จกลับพระเชตวัน Cr.https://th.wikipedia.org/wiki/วัดพระธาตุพนมวรวิหาร
ครั้งพระพุทธเจ้า เสด็จปรินิพพานที่เมืองกุสินารา เมื่อพระมหากษัตริย์ทั้งหลายถวายพระเพลิงพระสรีระพระพุทธองค์แต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งพระมหากัสสปมาถึง จึง ได้อธิษฐานว่า “พระธาตุองค์ใด ที่จะนำไปประดิษฐานที่ภูกำพร้า ขอพระธาตุองค์นั้นเสด็จมายังฝ่ามือ” ดังนี้แล้ว พระอุรังคธาตุก็เสด็จมายังฝ่ามือขวา ของพระมหากัสสป และหลังจากนั้น ไฟธาตุก็ลุกโชติช่วง เผาพระสรีระได้เอง เป็นที่น่าอัศจรรย์ เมื่อถวายพระเพลิง แจกพระบรมสารีริกธาตุเรียบร้อย พระมหากัสสป พร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ ก็ได้อัญเชิญพระธาตุมาทางอากาศ มาลงที่ดอยแท่น คือ ภูเพ็กในปัจจุบัน จากนั้นได้ไปบิณฑบาตที่เมืองหนองหารหลวง เพื่อบอกกล่าว พระยาสุวรรณพิงคาร แห่งเมืองหนองหารหลวง ก่อนดำเนินการก่อสร้าง พระธาตุพนม
การบูรณะของพระกัมฐาน หลังจากที่หลวงปู่เสาร์ กันตฺสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และศิษย์ มาพักจำพรรษา ใกล้พระธาตุพนม ในปี พุทธศักราช 2443 แล้ว ก็ได้มีการบูรณะ องค์พระธาตุพนม อย่างจริงจังในปี พุทธศักราช 2444 เป็นการบูรณะครั้งที่ 5 ตามหนังสือ อุรังคนิทาน ตำนานพระธาตุพนม ที่ท่านเจ้าคุณพระธรรมราชานุวัตร ได้กล่าวไว้